ผลวิจัยจากฟอร์ดเผยอันตรายร้ายแรงจากการใส่หูฟังขณะใช้รถใช้ถนน
ทุกวันนี้ หลายคนดื่มด่ำกับเสียงเพลง หรืออัพเดตเทรนด์ล่าสุดได้จากพอดคาสต์สุดโปรดผ่านหูฟังคุณภาพสูงโดยปราศจากเสียงรบกวนจากภายนอก หลายคนยังใช้หูฟังเป็นเครื่องมือตัดเสียงรบกวนภายนอกเพื่อช่วยเพิ่มสมาธิ หรือให้สมองได้ผ่อนคลาย อย่างไรก็ดี การสวมใส่หูฟังขณะเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานระหว่างขับขี่รถยนต์ จักรยาน สกูตเตอร์ หรือแม้กระทั่งเดินเท้าก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ในบางประเทศถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเลยทีเดียว
ผลการวิจัยเกี่ยวกับเสียงที่ได้รับการสนับสนุนโดยฟอร์ด เผยว่า ผู้ที่ฟังเพลงผ่านหูฟังสามารถรับรู้ถึงอันตรายบนท้องถนนได้ช้ากว่า ผู้ที่ไม่ได้สวมใส่หูฟังมากกว่า 4 วินาที
ทีมนักวิจัยได้เชิญอาสาสมัครกว่า 2,000 คนจากทั่วยุโรป มาร่วมทำการทดสอบผ่านประสบการณ์เสียงเชิงพื้นที่ (Spatial Sound) แบบ 8 มิติที่พัฒนาขึ้นพิเศษสำหรับงานวิจัยนี้ โดยให้กลุ่มอาสาสมัครได้สัมผัสประสบการณ์เสมือนอยู่บนถนนจริง และวัดความเร็วของปฎิกิริยาตอบสนองต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งหลังจากการทดสอบ อาสาสมัครส่วนมากตัดสินใจว่าจะไม่ใช้หูฟังขณะสัญจรอีกเลย
การศึกษาปฏิกิริยาตอบสนองต่ออันตรายภัยบนท้องถนนในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘Share The Road’ ที่ฟอร์ดจัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการสร้างความเห็นอกเห็นใจและความเข้าใจซึ่งกันและกันของผู้ใช้รถใช้ถนน โดยออกแบบการทดสอบมาเพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของการได้ยินที่มีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพในการรับรู้และตอบสนองต่อภัยบนท้องถนนได้
รายละเอียดการวิจัย
โครงการวิจัยนี้ได้สำรวจการใช้รถใช้ถนน และศึกษาพฤติกรรมการใช้หูฟังของอาสาสมัครกว่า 2,000 คนจากฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน และสหราชอาณาจักร โดยสัมภาษณ์ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงขณะขับรถ ขี่จักรยาน เดินเท้า หรือขับสกูตเตอร์
จากการสัมภาษณ์ ผู้เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่กล่าวว่าตนสวมหูฟังขณะเดินทาง และในจำนวนร้อยละ 56 ของอาสาสมัครทั้งหมดที่เคยเกือบได้รับอันตราย หรือเคยประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนมาก่อน มีผู้ที่ใช้หูฟังขณะเกิดเหตุถึงร้อยละ 27
ขั้นต่อไปทีมวิจัยได้ให้อาสาสมัครใช้แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่ทำขึ้นเพื่อแคมเปญนี้โดยเฉพาะ คือ ‘Share The Road: Safe And Sound’ เพื่อวัดผลว่าการสวมหูฟังมีผลต่อความสามารถในการตอบสนองต่อเสียงภายนอกที่จะเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัวอย่างไร
แอปพลิเคชันดังกล่าวใช้เทคโนโลยีเสียงเชิงพื้นที่แบบ 8 มิติเพื่อช่วยให้อาสาสมัครรู้สึกเสมือนกำลังอยู่บนถนนจริงๆ และเสียงจากทิศทางต่างๆ ที่ใช้ในการทดสอบก็ผลิตขึ้นจากการขยายช่วงเสียงและปรับแต่งความถี่ ทำให้แอปฯ สามารถสร้างเสียงบนถนนต่างๆ ได้อย่างสมจริง เช่น เสียงรถพยาบาลที่กำลังมาจากด้านหลัง
ผู้วิจัยจับเวลาการมีปฏิกิริยาต่อเสียงสัญญาณภัยดังกล่าวในสถานการณ์สามรูปแบบ โดยทดสอบทั้งเปิดเพลงขณะสวมหูฟัง และไม่เปิด ผลปรากฏว่าอาสาสมัครตอบสนองต่อเสียงภายนอกขณะฟังเพลงช้ากว่าขณะที่ไม่ฟังถึง 4.2 วินาทีโดยเฉลี่ย
การสัมภาษณ์อาสาสมัครทั้งก่อนและหลังการใช้ประสบการณ์เสียง 8 มิติ ทำให้ผู้วิจัยสามารถระบุได้ว่า แอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นนี้มีผลดีต่อการกระตุ้นจิตสำนึกเกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนนได้มากน้อยเพียงใด
ก่อนการทดสอบ เพียงร้อยละ 44 ของอาสาสมัครกล่าวว่าตนไม่สวมหูฟังขณะกำลังสัญจร หลังเสร็จสิ้นการทดสอบ ร้อยละ 58 ของอาสาสมัครยืนยันว่าตนจะไม่สวมหูฟังขณะสัญจรอีกเลย โดยเปลี่ยนทัศนคติของอาสาสมัครได้ถึงร้อยละ 31 ของจำนวนเดิม ส่วนทางด้านผู้ที่ยังจะสวมหูฟังบนถนนตามปกติ มีจำนวนลดลงถึงร้อยละ 64
Share The Road: ใช้ถนนร่วมกันอย่างปลอดภัย
ฟอร์ดยังได้เปิดตัวโครงการ ‘Share The Road: Safe and Sound’ ให้สำหรับคนทั่วไปทดลองใช้ เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนตระหนักถึงถึงความสำคัญของเสียงสัญญาณต่างๆ เมื่อต้องใช้เส้นทางร่วมกับผู้อื่น
ก่อนหน้านี้ ทีมงาน ‘Share The Road’ ยังได้พัฒนาโครงการ WheelSwap ที่ได้รับรางวัลระดับโลก ด้วยการสร้างประสบการณ์เสมือนจริง (Virtual Reality) เพื่อให้ผู้ขับขี่รถยนต์ และผู้ขับขี่จักรยานมีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันด้วยการจำลองสถานการณ์จากมุมมองของอีกฝ่ายที่จะสามารถเกิดอันตรายถึงชีวิตได้หากผู้ทดสอบขับขี่ไม่ระมัดระวัง นอกจากนั้นในปีที่แล้ว ฟอร์ดยังเผยต้นแบบของเสื้อ ‘Emoji Jacket’ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสัญลักษณ์ที่ออกแบบขึ้น หรือกราฟิกอัจฉริยะต่างๆ สามารถช่วยเสริมศักยภาพของการสื่อสาร และลดความตึงเครียดระหว่างผู้ใช้ถนนได้อย่างชัดเจน
“เสียงมีบทบทสำคัญต่อความสามารถในการรับรู้สิ่งรอบข้างตัวเรา เพราะเรามักจะได้ยินเสียงของสิ่งเหล่านั้นก่อนที่จะมองเห็น ถึงแม้หูฟังจะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นในหลายสถานการณ์ แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะทำให้เราไม่ได้ยินเสียงต่างๆ ที่ควรได้ยินบนถนนหนทางได้ ซึ่งหมายความว่าอาจจะทำให้เราไม่สามารถรู้สึกได้ว่ามีรถ หรือผู้ใช้ถนนอื่นๆ กำลังใกล้เข้ามา และอาจทำให้พวกเขา และตัวเราเองต้องเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ” ดร. มาเรีย เชท ศาตราจารย์ประจำภาควิชาประสาทวิทยาการได้ยิน มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน กล่าว
ด้าน เอ็มมานูเอล ลูบรานิ ผู้อำนวยการโครงการ ‘Share The Road’ ฟอร์ด ยุโรป ยังกล่าวเสริมว่า “เราได้เน้นย้ำความสำคัญของความปลอดภัยบนท้องถนนซึ่งผู้คนมักมองข้ามผ่านการวิจัยครั้งนี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประสบการณ์ ‘Share The Road: Safe and Sound’ ที่ทุกคนสามารถลองสัมผัสได้บนสมาร์ทโฟน จะช่วยทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเข้าใจถึงปัญหาของการสวมหูฟังระหว่างสัญจรมากขึ้น”
สามารถทดสอบการรับรู้เสียงรอบข้างบนท้องถนนในสถานการณ์ต่างๆ จากโครงการ ‘Share The Road: Safe and Sound’ ผ่าน https://fordsharetheroad8d.com/ บนสมาร์ทโฟน และรับชมวิดีโอเกี่ยวกับการวิจัยนี้ได้ที่นี่ที่