ผลสำรวจของฟิลิปส์ชี้ประชาชนส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

By / 2 months ago / News / No Comments
ผลสำรวจของฟิลิปส์ชี้ประชาชนส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

สนับสนุนสาธารณสุขแบบยั่งยืน และต้องการให้เกิดการนำมาใช้อย่างเร่งด่วน

รอยัล ฟิลิปส์ ผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีสุขภาพ เผยผลสำรวจเกี่ยวกับ “สาธารณสุขแบบยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC)” ซึ่งจัดทำโดย Kantar Profiles Network โดยสำรวจความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสำรวจในภูมิภาค 3,040 คน จากประเทศออสเตรเลีย, เกาหลีใต้, อินโดนีเซีย และประเทศไทย การสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงมุมมองของประชาชนต่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในวงการสาธารณสุข และนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดกลยุทธ์ให้กับระบบสุขภาพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อส่งมอบบริการสุขภาพที่ดีที่สุด ในขณะเดียวกันยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในวงการสาธารณสุขควรได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ

เกือบ 9 ใน 10 (87%) ของผู้ตอบแบบสำรวจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และ 97% ในประเทศไทยตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างผลกระทบของสภาพภูมิอากาศต่อสุขภาพส่วนบุคลล โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่น
มิลเลนเนียลรุ่นใหม่ (71%) และมิลเลนเนียลรุ่นเก่า (65%) โดย 85% ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเห็นความสำคัญในการนำแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุขแบบยั่งยืนมาใช้ สำหรับประเทศไทย แม้ว่าส่วนมากจะเห็นความสำคัญต่อสาธารณสุขแบบยั่งยืน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการนำไปใช้จริงยังถือว่าต่ำมาก โดยมีเพียง 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจในไทยเท่านั้นที่เห็นว่ามีการนำสาธารณสุขแบบยั่งยืนมาใช้แล้ว นอกจากนี้ 65% ของผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศไทยระบุว่าการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการทิ้งขยะอันตรายเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้พวกเขาเห็นความสำคัญของสาธารณสุขแบบยั่งยืน ในขณะที่ 59% ของผู้ตอบแบบสำรวจในไทยเห็นว่าสาธารณสุขแบบยั่งยืนจะช่วยให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยรักษาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ในขณะที่ 56% เห็นว่าสาธารณสุขแบบยั่งยืนจะช่วยป้องกันสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และคนที่รักได้

ในกลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศไทย กลุ่มมิลเลเนียลให้ความสำคัญต่อสาธารณสุขแบบยั่งยืนมากที่สุดถึง 70% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มช่วงอายุอื่น ในขณะเดียวกันกว่า 40% ของกลุ่มมิลเลเนียลยังเห็นว่าสาธารณสุขแบบยั่งยืนเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ควรนำมาปฏิบัติอย่างกว้างขวาง ในขณะที่กลุ่มอายุอื่นเห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน

เกือบทั้งหมด (93%) ของผู้ตอบแบบสำรวจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเห็นว่าเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุขแบบยั่งยืน โดยผลลัพธ์จากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในวงการสาธารณสุขที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ได้แก่ การจัดการทรัพยากรด้านสาธารณสุขได้ดีขึ้นผ่านการใช้งานและการจัดการที่มีประสิทธิภาพ (27%), การใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น (25%), ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยลดการใช้ทรัพยากรจากการเปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัล หรือการใช้โซลูชันคลาวด์ หรือการดูแลรักษาผ่านระบบออนไลน์ (20%)

นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า“จากผลสำรวจจะเห็นได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพส่วนบุคคลกับสิ่งแวดล้อม และเห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรมและการนำแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุขแบบยั่งยืนมาใช้ให้เกิดจริง ฟิลิปส์ ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพ เรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขสามารถดูแลผู้ป่วยและสิ่งแวดล้อมของโลกเรา ผ่านการออกแบบ นวัตกรรม และความยั่งยืน ภายใต้แคมเปญ ‘Care Means the World’ เราจึงจำเป็นต้องเข้าใจถึงความคาดหวังของผู้คนด้านสาธารณสุขแบบยั่งยืน
เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบนิเวศด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และนำไปสู่การดูแลรักษาในอนาคตที่ดีกว่าสำหรับทุกคน”

ผลสำรวจในประเทศไทยระบุว่า มีความตระหนักถึงแนวทางการดำเนินการแบบหมุนเวียน (Circularity) มากขึ้น ได้แก่ การรีไซเคิล (41%) และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (41%) ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุขแบบยั่งยืนที่คนไทยตระหนักถึงมากที่สุด สำหรับการเข้ารับคำปรึกษาด้านสุขภาพผ่านระบบออนไลน์มีการตระหนักถึงในระดับปานกลาง นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจในไทยยังตระหนักถึงระบบสาธารณสุขแบบหมุนเวียน (37%), ส่งเสริมความรู้เรื่องโรคและการตรวจคัดกรอง (37%) รวมถึงการกำจัดและการจัดการขยะอันตรายอย่างเหมาะสม (36%)

ช่องว่างในการนำสาธารณสุขแบบยั่งยืนมาลงมือปฏิบัติอย่างเร่งด่วน

7 ใน10 หรือ 69% ของผู้ตอบแบบสำรวจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมองว่าแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุขแบบยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน แต่มีเพียง 15% เท่านั้นที่ระบุว่ามีการนำสาธารณสุขแบบยั่งยืนมาใช้ในประเทศของตนเป็นวงกว้างแล้ว

ในประเทศไทย อุปสรรคหลักในการนำสาธารณสุขแบบยั่งยืนไปใช้จริง ได้แก่ การเข้าถึงบริการสาธารณสุขแบบยั่งยืน (41%), ต้นทุนที่สูงขึ้น (37%) และขาดแรงจูงใจด้านการเงิน (36%) นอกจากนี้ หลายคนยังกล่าวว่าการนำความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนไปสู่ระบบสาธารณสุขขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างซับซ้อนใช้เวลานาน (34%) และพวกเขายังมีความตระหนักน้อยเกี่ยวกับผลกระทบของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเมื่อเปรียบเทียบระหว่างระบบสาธารณสุขแบบเดิมกับแบบยั่งยืน (34%) อุปสรรคอื่นๆ อาทิ กังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลเมื่อใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และความเคยชินในการปฏิบัติแบบเดิมส่งผลต่อการนำแนวทางปฏิบัติแบบใหม่มาใช้ให้เป็นเรื่องยากขึ้น

นอกจากนี้ 60% ของผู้ตอบแบบสำรวจในไทยเลือกที่จะเข้ารับคำปรึกษาด้านสุขภาพแบบพบหน้า ขณะที่อัตราการรับคำปรึกษาด้านสุขภาพผ่านทางออนไลน์ในกลุ่มมิลเลเนียล (มากกว่า 40%) สูงกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ สำหรับเหตุผลหลักที่ทำให้ผู้ตอบแบบสำรวจเลือกรับคำปรึกษาด้านสุขภาพผ่านทางออนไลน์ในทุกกลุ่มอายุ เพราะการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ส่วนเหตุผลหลักในการรับคำปรึกษาด้านสุขภาพแบบพบหน้าในทุกกลุ่มอายุ คือ การได้รับการตรวจรักษาโดยตรง และการได้พูดคุยแบบตัวต่อตัว

การเข้าถึงตัวเลือกบริการสาธารณสุขแบบยั่งยืนได้มากขึ้น (46%) เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่จะก่อให้เกิดการปฏิบัติตามแนวทางความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การให้ความรู้ (45%) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดสาธารณสุขแบบยั่งยืน เนื่องจากผู้ตอบแบบสำรวจต่างเห็นว่าการให้ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ให้มากขึ้น จะทำให้พวกเขารู้ว่าหลักปฏิบัติง่ายๆ ใดที่พวกเขาสามารถทำได้เพื่อสนับสนุนสาธารณสุขแบบยั่งยืน และปัจจัยอื่นๆ (44%) จะช่วยให้พวกเขามีความรู้และความเข้าใจที่จำเป็นในการสนับสนุน, ดำเนินการ และการนำแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืนมาใช้

ความร่วมมือเป็นอีกกุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง และเพื่อให้แน่ใจว่าการออกแบบนวัตกรรมอย่างยั่งยืนจะช่วยผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขและผู้ป่วยเอง สามารถมีส่วนในการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ และเพื่อให้สอดคล้องกับการสนับสนุนแนวทางสาธารณสุขแบบยั่งยืน ผู้ให้บริการด้านสาธารณสุข บริษัทเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพ รัฐบาล และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงควรจะร่วมมือกันในการวางกลยุทธ์ พัฒนาโซลูชัน และบริการที่เหมาะสม