ฟิลิปส์ เผยผลสำรวจ Philips Future Health Index 2023  

ฟิลิปส์ เผยผลสำรวจ Philips Future Health Index 2023  

จับตาวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ใช้โมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่ เพื่อรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น  และปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์

รอยัล ฟิลิปส์ (NYSE: PHG, AEX: PHIA) ผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพระดับโลก เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เผยถึงผลการสำรวจจากรายงาน Future Health Index (FHI) 2023  ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APAC) ในหัวข้อ “Taking Healthcare Everywhere” เป็นผลสำรวจที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 โดยทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างเกือบ 3,000 คน ครอบคลุมผู้บริหารแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ และบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่จาก 14 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งจากผลสำรวจพบว่าโมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยการนำเทคโนโลยีและข้อมูลมาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วย เพื่อให้การดูแลรักษามีความใกล้ชิดกับตัวผู้ป่วยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นไปอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในระหว่างที่ต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์

แครอไลน์ คลาร์ก ประธานและรองประธานบริหาร ฟิลิปส์ เอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า “เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ระบบสาธารณสุขให้บริการจากส่วนกลางหรือโรงพยาบาลเท่านั้น แต่จากผลสำรวจล่าสุด พบว่าผู้บริหารในวงการเฮลท์แคร์ในเอเชีย-แปซิฟิกส่วนมาก กำลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพื่อรับมือกับปัญหาด้านบุคลากรและต้นทุนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้ป่วย เพราะเราเล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่จะมีการกระจายบริการด้านสาธารณสุขออกไป ด้วยการนำสมาร์ทและดิจิทัลเฮลท์เทคโนโลยี(Smart and Digital Health Technology) และข้อมูลมาใช้เพื่อเชื่อมต่อบริการสาธารณสุขให้เข้าใกล้ผู้ป่วยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือในชุมชนที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ ให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้ทุกที่ทุกเวลา”

โมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่เพื่อประสิทธิภาพ ทั้งด้านผลลัพธ์ทางสุขภาพและแนวทางการทำงาน

นอกจากขยายการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและปรับปรุงผลลัพธ์ของการดูแลผู้ป่วยแล้ว รายงาน FHI ยังเผยให้เห็นว่าการนำโมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่มาใช้ จะช่วยให้ผู้บริหารแถวหน้าของวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคนี้ สามารถขับเคลื่อนให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น โดยสองในสาม (66%) ของผู้บริหารแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์และบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่บอกว่า พวกเขามีความพร้อมในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยโมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่ ในขณะที่ 63% เชื่อว่าการดูแลรักษาผู้ป่วยสามารถดำเนินการไปได้พร้อมๆ กับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

ผลสำรวจยังเผยให้เห็นถึงผลกระทบเชิงบวกต่อกำลังใจและการรักษาบุคลากรไว้ในองค์กร โดยบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่หวังว่าโมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่จะช่วยให้พวกเขามีสมดุลในการทำงาน (work-life balance) ที่ดีขึ้น (58%) และสร้างความพึงพอใจในการทำงานมากขึ้น (56%) มากกว่าโมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบเดิมๆ

นอกจากนี้ 44% ของกลุ่มตัวอย่างในภูมิภาคนี้ยังเห็นว่าโมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่มีประโยชน์ในด้านการยอมรับและปฏิบัติตามของผู้ป่วยในการรักษา ในขณะที่ 36% เห็นว่าช่วยให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ป่วยได้ดีขึ้น และ 35% เห็นว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ (เช่น ระยะเวลารอคอยในการรักษาที่สั้นลง, แพทย์ได้ตรวจและพบปะผู้ป่วยมากขึ้น) ความร่วมมือกับชุมชนเพื่อพัฒนาด้านสุขภาวะของประชากร และยกระดับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเฮลท์แคร์มากขึ้น

ความสำเร็จในการประยุกต์ใช้โมเดลใหม่ ด้วยการลงทุนเพิ่มในเทคโนโลยี AI ข้อมูลสารสนเทศ  การดูแลรักษาผู้ป่วย และการฝึกอบรมผ่านทางออนไลน์

การนำโมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่มาใช้ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้รับแรงหนุนจากการลงทุนเพิ่มในเทคโนโลยีดิจิทัลเฮลท์ และการขยายของระบบออนไลน์ (virtual care) ไปยังส่วนต่างๆ ในระบบนิเวศด้านเฮลท์แคร์

48% ของผู้บริหารแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ลงทุนในบันทึกดิจิทัลด้านสุขภาพมากที่สุด และเกือบสามในสี่ (74%) ของผู้บริหารแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคมีแผนที่จะลงทุนในปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในอีก 3 ปีข้างหน้า นำโดยสิงคโปร์ (84%) ตามด้วยอินโดนีเซีย (76%) และออสเตรเลีย (63%) เพื่อนำไปใช้ในการคาดการณ์ผลลัพธ์ (39%)  เช่น วิเคราะห์แนวโน้มผู้ป่วยต่อการตอบสนองต่อแผนการดูแลรักษา เพื่อความแม่นยำในการดูแลรักษาที่มากขึ้น เพื่อนำไปใช้สนับสนุนในการตัดสินใจทางคลินิก (35%) เช่น ให้คำแนะนำในการตรวจวินิจฉัยหรือการรักษา การแจ้งเตือนล่วงหน้า การตรวจหาโรคแบบอัตโนมัติ ตัวชี้แนะการตัดสินใจทางคลินิก เป็นต้น  และเพื่อนำไปใช้ในการบูรณาการด้านวินิจฉัย (33%) เช่น ช่วยประมวลผลการตรวจวินิจฉัยจทางคลินิกจากเครื่องมือที่แตกต่าง อาทิ การตรวจด้วยภาพและพยาธิวิทยา ประวัติทางคลินิก เป็นต้น

ผู้บริหารแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ของภูมิภาคนี้ผลักดันการกระจายบริการด้านสาธารณสุขที่นอกเหนือจากในโรงพยาบาล ด้วยการขยายการดูแลรักษาผู้ป่วยผ่านระบบออนไลน์ (virtual care) ไปยังส่วนต่างๆ ของระบบนิเวศด้านเฮลท์แคร์ซึ่งไม่เฉพาะสำหรับการตรวจวินิจฉัยเท่านั้น โดยครึ่งหนึ่ง (51%) ของผู้บริหารแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก บอกว่า สถานบริการด้านสาธารณสุขของพวกเขาให้บริการดูแลผู้ป่วยหนักหรือผู้ป่วยวิกฤตผ่านระบบออนไลน์แล้ว และ 42% บอกว่าพวกเขาจะให้บริการเช่นนั้นในอนาคต ในขณะที่ 62% ของผู้บริหารแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ของภูมิภาคนี้บอกว่า พวกเขาให้บริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินที่บ้านแล้ว ผ่านทั้งระบบออนไลน์และการพบปะตัวบุคคล และ 31% บอกว่าพวกเขาวางแผนที่จะทำเช่นนั้นในอีก 3 ปีข้างหน้า

สำหรับประเทศไทย มากกว่าร้อยละ 45 ของหน่วยบริการด้านเฮลท์แคร์ได้ถูกพัฒนาไปสู่การเป็น Smart Hospitals โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีการกำหนดกลยุทธ์เพื่อนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในโรงพยาบาล และมีการตั้งเป้าหมายเพื่อพัฒนาโรงพยาบาลและบริการด้านเฮลท์แคร์สู่การเป็น Smart Hospital[1]

นอกจากนี้ การนำโมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่มาประยุกต์ใช้ กว่าครึ่ง (58%) ของผู้บริหารแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์และบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมบุคลากรให้มีทักษะที่จำเป็น โดยเกือบหนึ่งในสามของผู้บริหารแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ ระบุว่าทักษะในการอ่านและแปลข้อมูล (29%) ความสมัครใจของบุคลากรที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ (29%) ทั้งสองเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จในการนำโมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่มาใช้ ในขณะที่ 44% ของบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ยอมรับว่าพวกเขาต้องการการฝึกอบรมเพิ่มเติมทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อช่วยในการตรวจวินิจฉัย (41%) และเพื่อช่วยลดภาระงาน (40%) ซึ่งถือเป็นเหตุผลสำคัญในการผลักดันให้บุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้นด้วย

การเพิ่มขึ้นเท่าตัวของเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและความพึงพอใจในการทำงาน

ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรกำลังเป็นปัญหาสำคัญของวงการสาธารณสุขทั่วโลก จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติและกระทรวงสาธารณสุขเผยอัตราแพทย์ในประเทศไทยคือแพทย์ 0.5 คน ต่อประชากร 1,000 คน ในขณะที่ WHO ระบุไว้ว่าอัตราที่เหมาะสมคือแพทย์ 2.8 คนต่อประชากร 1,000 คน นอกจากนี้ แผนกำลังคนตามการจัดระบบบริการโดยเขตสุขภาพแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 38,174 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นแพทย์ 6,115 ตำแหน่งและเป็นพยาบาล 28,174 ตำแหน่ง

จากรายงานพบว่าผู้บริหารแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สองในสาม (67%) ของพวกเขา (เทียบกับ 56% ทั่วโลก) มีการใช้หรือมีแผนที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเฮลท์เพื่อลดผลกระทบจากการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะผู้บริหารในอินโดนีเซีย (77%) และสิงคโปร์ (75%) ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ 3 อันดับแรกของเทคโนโลยีที่มีผลต่อการลดผลกระทบจากการขาดแคลนบุคลากรจากความเห็นของผู้บริหารแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ เทคโนโลยีที่สามารถใช้งานบนคลาวด์ได้ เพื่อรองรับการเข้าถึงข้อมูลจากที่ไหนก็ได้ (44%) เทคโนโลยีโซลูชันส์ที่เชื่อมต่อภายนอกโรงพยาบาลได้ (37%) และเทคโนโลยีด้านการจัดการข้อมูล อาทิ PACS, บันทึกดิจิทัลด้านสุขภาพ, และกระบวนการจัดการผู้ป่วยอัตโนมัติ (35%)

การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลและโมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่สามารถช่วยดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถให้เข้ามาร่วมงานกับองค์กรได้ บุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ระบุว่า การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ (39%) และโมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่ที่เชื่อมต่อการดูแลที่แตกต่างกัน (33%) เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกสถานที่ทำงานของพวกเขา โดย 33% เห็นว่าแชทบอท (Chat bots) สามารถช่วยตอบคำถามพื้นฐานทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วยได้ 28% เห็นว่าการถ่ายโอนข้อมูลด้านเฮลท์แคร์ระหว่างโรงพยาบาลเป็นเรื่องสำคัญ และ 26% เห็นถึงความสามารถในการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยได้จากทุกที่ ทั้งหมดนี้บุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่เห็นเหมือนกันว่า เป็นเทคโนโลยีอันดับต้นๆ ที่จะมาช่วยเพิ่มความพึงพอใจในการทำงานของพวกเขาได้

กลยุทธ์สำคัญต่อวงการเฮลท์แคร์ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ความยั่งยืนยังคงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แต่การไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสม (43%)  การไม่มีมาตรฐานที่ตั้งไว้ในวงการเฮลท์แคร์ (37%) และขาดความสนใจจากบุคลากร (32%) ถือเป็นความท้าทายสำคัญที่ทำให้ผู้บริหารแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไม่สามารถดำเนินการโครงการด้านความยั่งยืนได้ ดังนั้นกลุ่มผู้บริหารในวงการจึงเห็นว่าการสร้างกรณีศึกษาทางธุรกิจเพื่อริเริ่มดำเนินงานโครงการ (42%) และการแชร์ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ (38%) จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรได้ นอกจากนี้ พวกเขายังเชื่อว่าการทำงานร่วมกันหรือปรึกษากับพาร์ทเนอร์เพื่อริเริ่มหรือสนับสนุนโครงการด้านความยั่งยืน และการสรรหาบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะทางเพิ่มขึ้น (35% ตามลำดับ) จะเป็นประโยชน์ต่อการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้

“ระบบนิเวศเฮลท์แคร์ที่สมาร์ทและยั่งยืน มาพร้อมโซลูชันส์ดิจิทัลที่กำหนดนิยามใหม่ในด้านประสบการณ์ของการดูแลผู้ป่วยที่เน้นให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และด้านการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในอนาคต เรารู้สึกตื่นเต้นอย่างมากที่ได้ร่วมงานกับพันธมิตรด้านเฮลท์แคร์ของเราในการริเริ่มการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่ของทศวรรษหน้า นอกจากการนำเสนอนวัตกรรมที่เหมาะสม และการฝึกอบรมที่ทันสมัย ซึ่งจำเป็นต่อการปลดล็อกศักยภาพของการดูแลผู้ป่วยได้ทุกที่ทุกเวลาแล้ว เรายังตระหนักดีถึงการนำเสนอโซลูชันส์ การดำเนินงาน และโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อมลภาวะทางอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างความยั่งยืนแห่งอนาคตในวงการเฮลท์แคร์ได้” แครอไลน์ คลาร์ก กล่าวเสริม

ฟิลิปส์ได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อนำเสนอโมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่ และสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในระยะยาวเพื่อส่งมอบการดูแลผู้ป่วยที่สร้างสรรค์ ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนระบบสาธารณสุขในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในการพัฒาไปสู่ Smart Hospital ที่เชื่อมต่อผู้คน ข้อมูล และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน เพื่อบรรลุเป้าหมาย 4 ด้าน ได้แก่ 1) ปรับปรุงประสบการณ์การดูแลผู้ป่วย 2) ยกระดับสุขภาพส่วนบุคคลและประชากร 3) ปรับปรุงชีวิตการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และ 4) ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่อคน นอกจากนี้ การบริการ การอัปเกรด นวัตกรรมและการดำเนินงานที่ยั่งยืน ตลอดจนการฝึกอบรมและการศึกษา คือ กุญแจสู่ความสำเร็จในระยะยาวในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ฟิลิปส์จึงพร้อมนำเสนอระบบที่ครอบคลุมและบูรณาการ อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์แบบสมาร์ท ซอฟต์แวร์และการบริการ ที่สามารถแก้ไขปัญหาและความท้าทายที่ผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขกำลังเผชิญ และสามารถผลักดันการปฏิรูปด้านดิจิทัลได้อย่างเต็มความสามารถ