ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จัดแข่งขันทักษะวิชาชีพระดับอาชีวศึกษา
ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 30 วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนเข้าร่วมชิงแชมป์ประจำปี 2567
บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ผู้ผลิต และจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยามาฮ่า ผนึกกำลัง สมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยี และอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รอบชิงชนะเลิศประจำปี 2567 ชิงถ้วยพระราชทาน พร้อมทุนการศึกษารวม 120,000 บาท
สำหรับการแข่งขันทักษะวิชาชีพ สาขาวิชารถจักรยานยนต์ยามาฮ่า รอบชิงชนะเลิศ ระดับประเทศ ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน เพื่อเป็นการพัฒนา และเสริมทักษะในสาขาวิชาชีพช่างยนต์ให้กับเหล่านักศึกษาในระดับอาชีวศึกษา เพื่อการผลิตช่างในสาขาวิชาช่างยนต์สำหรับรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย โดยจะต้องใช้ทักษะด้านวิชาชีพที่ได้ทำการเรียนมาประกอบการแข่งขันอย่างแท้จริงกับสถานีแข่งขันทั้งหมด 6 สถานี ได้แก่
สถานีที่ 1 งานตรวจเช็กระยะห่างวาล์วและคำนวณเปลี่ยนชิมวาล์วเครื่องยนต์ YZF-R3
สถานีที่ 2 งานถอด-ประกอบ ชุดฝาสูบเสื้อสูบและลูกสูบ เครื่องยนต์ YAMAHA NMAX
สถานีที่ 3 งานบำรุงรักษาชุดคลัทช์ เครื่องยนต์ YAMAHA YZF-15
สถานีที่ 4 งานบำรุงรักษารถจักรยานยนต์ YAMAHA FINN
สถานีที่ 5 วิเคราะห์ปัญหาระบบหัวฉีดเชื้อเพลิงรถจักรยานยนต์ YAMAHA GRAND FILANO
สถานีที่ 6 ภาคทฤษฎีพื้นฐานรถจักรยานยนต์ และการคำนวณ
สำหรับการแข่งขันทักษะวิชาชีพ สาขาวิชารถจักรยานยนต์ยามาฮ่า ได้ทำการแข่งขันในระดับประเทศ เพื่อค้นหา 30 สถาบันเข้าร่วมแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ โดยการแบ่งรอบการแข่งขันในระดับภูมิภาคของสถาบันเทคโนโลยี และอาชีวศึกษาเอกชนภายใต้ สมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยี และอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั่วประเทศ จำนวน 82 สถาบัน ก่อนคัดเหลือเพียง 30 สถาบัน เพื่อเข้าร่วมชิงชัยในรอบชิงชนะเลิศ
พร้อมกันนี้ทาง บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ได้ร่วมมือกับสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยี และอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดตั้งศูนย์การเรียนการสอนใน 20 สถาบันทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นนำของยามาฮ่าให้กับเยาวชนไทย เพิ่มทักษะความรู้ใหม่ให้ก้าวทันโลกปัจจุบันที่เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยมีอุปกรณ์การเรียนการสอนในหมวดวิชารถจักรยานยนต์ที่ทันสมัย เทียบเท่าศูนย์บริการผู้จำหน่ายยามาฮ่า และเทคโนโลยีอันทันสมัยของรถจักรยานยนต์ยามาฮ่า และจัดการอบรมหลักสูตรวิชาชีพชั้นสูงให้กับนักเรียน นักศึกษา รวมถึงครูอาชีวศึกษา ซึ่งในปี 2566 ได้อบรมให้กับ นักเรียน นักศึกษา และครูอาชีวศึกษา ไปแล้วมากกว่า 30 วิทยาลัย นักเรียน นักศึกษาผ่านการอบรมมากกว่า 2,000 คน ทั่วประเทศ