IRC มั่นใจ 5 กฎเหล็ก ฝ่าวิกฤติโควิด19
จะไม่ก่อปัญหาให้ห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมยานยนต์ รักษาการผลิตสินค้าป้อนสู่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
บริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ IRC ผู้นำนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยางอีลาสโตเมอร์และยางนอกยางในสำหรับรถจักรยานยนต์ ในประเทศไทยคุมเข้มกฎเหล็ก 5 ประการในการต่อสู้กับโควิด 19 ระลอกใหม่ หลังจากใช้ได้ผลมาแล้วอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การเกิดระบาดครั้งแรกเมื่อต้นปีที่แล้ว
นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ประธานกรรมการบริหาร IRC เปิดเผยว่าภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยถือว่าเป็นภาคส่วนที่มีความเข้มแข็งมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่มีการปิดโรงงานอุตสาหกรรมจากวิกฤติการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด19 แต่ในประเทศไทย โรงงานอุตสาหกรรมโดยส่วนใหญ่มีความตื่นตัวกับระบบการป้องกันเชิงรุก ไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่ระบาดเข้าสู่กระบวนการผลิต จึงทำให้ภาคการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศไทยยังคงเดินหน้าต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ส่งผลกระทบไปถึงห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศไทยและห่วงโซ่อุปทานต่างประเทศ โดยที่ประเทศไทยถือเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของโลกด้วย
นางพิมพ์ใจกล่าวว่ากฎเหล็ก 5 ประการ ได้แก่ การคัดกรอง สุขอนามัย การจัดการสถานที่ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และการเฝ้าระวัง
“ความจริงแล้ว กฎทั้ง 5 ข้อนี้ สอดคล้องกับระเบียบขั้นพื้นฐานของหน่วยราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการป้องกันเชิงรุก แต่เรามีการนำมาปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรของเรา และเราถือปฏิบัติอย่างเข้มงวดมาตลอด แต่ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องให้ใจซึ่งกันและกันในระหว่างพนักงานทุกคนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับผู้บริหารไปจนถึงพนักงานฝ่ายการผลิตในโรงงาน พนักงานในสำนักงานตลอดจนพนักงานรักษาความปลอดภัย ถ้าใครไปที่ไหนที่เป็นจุดเสี่ยง เราต้องรายงานความจริงให้หมดเพื่อป้องกัน เพราะเราเห็นบทเรียนของการให้ความจริงไม่หมดแล้วว่ามันกระทบวงกว้างอย่างที่เกิดขึ้นในขณะนี้” นางพิมพ์ใจ กล่าว
นางพิมพ์ใจ กล่าวว่าการระบาดระลอกใหม่นี้ถือว่ารุนแรงกว่าในช่วงที่ผ่านมา แต่เนื่องจากการปฏิบัติตามกฎเหล็กทั้ง 5 ข้อที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ IRC มีความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่รุนแรง ประกอบกับนโยบายการเอาใจใส่พนักงานและสมาชิกในครอบครัวของพนักงานทุกระดับ กับวิถีแห่งการปฏิบัติในลักษณะการไว้เนื้อเชื่อใจกัน ทำให้พนักงานทุกคนพร้อมที่รายงานความจริงที่เกิดขึ้นทุกประการเพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขให้ทันกับสถานการณ์
“นโยบายเราชัดเจนว่าใครที่ไปสัมผัสกับกลุ่มเสี่ยง เขาจะต้องรายงานรายละเอียดต่อคณะกรรมการ และเราจะนำเข้ากระบวนการคัดกรองทันที ถ้าต้องหยุดงานเพื่อกักตัวเองสังเกตอาการ เราก็ต้องทำ และหากพบว่าต้องรักษา เราก็จะทำการรักษาเพื่อให้เขากลับมาทำงานได้ตามปกติ” นางพิมพ์ใจ กล่าว
นางพิมพ์ใจ กล่าวว่า IRC ถือเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ป้อนให้กับโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ขณะเดียวกัน ก็เป็นผู้ผลิตยางในและยางนอกสำหรับรถจักรยานยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย ที่จำหน่ายให้กับโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ทั่วประเทศ ดังนั้น ความร่วมมือร่วมใจของพนักงานทุกภาคส่วนของ IRC จึงถือเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้สายการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย รวมไปถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ IRC ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้โดยไม่มีผลกระทบ และสามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง
“ในอุตสาหกรรมยานยนต์ จะเห็นได้ว่ามีชิ้นส่วนประกอบมากกว่า 30,000 ชิ้นในการประกอบรถยนต์แต่ละคัน เราเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เราจึงเข้มงวดมากในเรื่องนโยบายการป้องกันการระบาดในบริษัทเรา ซึ่งเราทำมาตั้งแต่เกิดเรื่องนี้ ไม่ใช่เพิ่งจะมาเริ่ม จึงทำให้เรามั่นใจว่าเราจะสามารถฟันฝ่าวิกฤติโควิด19 ไปพร้อมกับเพื่อนนักอุตสาหกรรมด้วยกัน” นางพิมพ์ใจ กล่าว
IRC ปัจจุบัน นอกจากจะเป็นผู้ผลิตยางนอกและยางในสำหรับรถจักรยานยนต์แล้ว ยังเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยางเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ อย่างเช่น ชิ้นส่วนยางในห้องเครื่อง ยางกันกระแทก ยางในระบบส่งกำลังและชิ้นส่วนภายในห้องโดยสาร และยางซีล นอกจากนั้น บริษัทยังมีผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยางในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ชิ้นส่วนยางที่ใช้ในระบบโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องจักรเพื่อการก่อสร้าง เครื่องทำความเย็น เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ผลิตเพื่อป้อนให้กับตลาดในประเทศประมาณ 73% และส่งออกไปยังต่างประเทศประมาณ 23%