ฟอร์ดฉลองครบ 4 ปี ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ
จับมือศูนย์วิจัยชุมชนเมือง-กทม.จัด Placemaking Week Bangkok
ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี สนับสนุนงบประมาณผ่านกองทุนฟอร์ด ฟันด์ ทุ่มกว่า 1.6 ล้านบาท ร่วมฉลองครบรอบ 4 ปีศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม หรือ ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ สนับสนุนศูนย์วิจัยชุมชนเมือง (Urban Studies Lab – USL) ร่วมกับ Placemaking X เครือข่ายผู้ทำงานด้านการพัฒนาพื้นที่เมืองระดับนานาชาติ จัดงาน ‘สัปดาห์การออกแบบและสร้างสรรค์พื้นที่’ (Placemaking Week Thailand) ครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด ‘Diverse + City: เมืองหลากหลาย’ ระหว่าง 20-29 ตุลาคม 2566 โดยมีนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกล่าวเปิดกิจกรรม ณ บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
“ฟอร์ดยินดีที่ได้สนับสนุนกิจกรรมที่มีส่วนในการเสริมสร้างการรับรู้ และสื่อสารถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชน อาทิ มุมมองที่กลุ่มคนต่างๆ มีต่อเมือง เอกลักษณ์ รวมถึงองค์ความรู้และภูมิปัญญาต่างๆ ของแต่ละชุมชน ซึ่งพันธมิตรของศูนย์ FREC กรุงเทพฯ ทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในการนำข้อมูลที่ได้ไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเมืองในย่านอื่นๆ ต่อไป” นางสาวกมลชนก ประเสริฐสม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ฟอร์ด ประเทศไทย และตลาดอาเซียน กล่าว
ทั้งนี้ Placemaking X เป็นเครือข่ายที่เกิดขึ้นจากการริเริ่มของเฟรด เคนท์ ปรมาจารย์ด้านการจัดการพื้นที่สาธารณะที่มีชื่อเสียงระดับโลก ร่วมกับผู้นำกว่า 100 ราย และผู้สนับสนุนกว่า 1,500 รายจาก 85 ประเทศทั่วโลก พัฒนาพื้นที่โดยอาศัยหลากหลายวิธีในกระบวนการวางแผน การออกแบบ และการจัดการพื้นที่สาธารณะตามย่านต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะที่ส่งเสริมสุขภาพ ความสุข และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน โดยงาน Placemaking Week เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2560 ที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา และได้จัดขึ้นต่อเนื่องทุกๆ ปี ในอีกหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ฟินแลนด์ เนเธอแลนด์ สวีเดน เคนย่า ญี่ปุ่น มาเลเซีย เป็นต้น
โดยพันธมิตรศูนย์ FREC รับหน้าที่สรรค์สร้างกิจกรรมสำหรับชุมชนนางเลิ้งต่างๆ ประกอบด้วย
- มูลนิธิสติ (SATI Foundation) จัดเวทีเสวนาประเด็นทางสังคมในหัวข้อ ‘กระบวนการทำงานกับเด็กกลุ่มเสี่ยงและการสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่เยาวชน’
- Precious Plastic Bangkok จะกิจกรรมเวิร์กช็อปเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการจัดการขยะหลังการบริโภคในย่านนางเลิ้ง
- มูลนิธิรักสัตว์ป่า หรือ Love Wildlife จัดงานออกแบบเพื่อทดลองใช้พื้นที่ริมคลองผดุงกรุงเกษมด้วยสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชน และทริปสำรวจแหล่งที่อยู่อาศัยและระบบนิเวศน์ของสัตว์ในย่านนางเลิ้ง
- มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ หรือ SOS จัดกิจกรรมสำรวจแหล่งอาหารส่วนเกินในย่านนางเลิ้งและร่วมกันประกอบอาหารในครัวชุมชน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ช่วยกันเปลี่ยนอาหารส่วนเกินที่ดูเหมือนไม่มีค่าให้เป็นอาหารจานใหม่ที่มีคุณค่าเพื่อมอบให้แก่ชุมชนที่มีความต้องการ
นอกจากย่านนางเลิ้ง กิจกรรมจะจัดขึ้นในอีก 3 ย่านรอบกรุงรัตนโกสินทร์ได้แก่ ริมคลองผดุงกรุงเกษม บำรุงเมือง และปากคลองตลาด รวมถึงย่านวัวลายในจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรระดับพื้นที่จำนวนมาก ได้แก่ Human of Flower Market (มนุษย์ปากคลองฯ) Urban Ally (ศูนย์มิตรเมือง) Design for Creative Economy Lab ปั้นเมือง อีเลิ้ง (ชุมชนนางเลิ้ง) Bamboosaurus CERCA และ Weave Artisan Society
ฟอร์ดมุ่งมั่นที่จะสร้างความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งและสนับสนุนชุมชนในพื้นที่ที่ฟอร์ดเข้าไปดำเนินธุรกิจ การจัดตั้งศูนย์ FREC กรุงเทพฯ จึงสะท้อนถึงพันธกิจระยะยาวของฟอร์ดในการทำงานร่วมกับชุมชนและองค์กรเพื่อสังคมสร้างผลกระทบเชิงบวกผ่านโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอาหาร การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงศิลปะและเทคโนโลยี โดยมีศูนย์ FREC กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างฟอร์ดและผู้อยู่อาศัยในชุมชนผลักดันให้เกิดกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนในสังคมอย่างยั่งยืน