เกรท วอลล์ มอเตอร์ จับมือ นิด้าโพล เปิดผลสำรวจรถยนต์ไฟฟ้ามาแรงแบบฉุดไม่อยู่!!

By / 11 months ago / EV ZONE, News / No Comments
เกรท วอลล์ มอเตอร์ จับมือ นิด้าโพล เปิดผลสำรวจรถยนต์ไฟฟ้ามาแรงแบบฉุดไม่อยู่!!

ชี้เรื่องค่าชาร์จไฟที่ถูกกว่าน้ำมันและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อ

เกรท วอลล์ มอเตอร์ ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” หรือ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สำรวจความคิดเห็นและพฤติกรรมคนไทยที่มีต่อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 1,000 คนทั่วประเทศในเดือนธันวาคม 2566 พบว่า
คนไทยให้ความสนใจรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) มากที่สุดถึง 64.8% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากผลสำรวจในปี 2564 อย่างมีนัยสำคัญถึง 37.5% ตามด้วยรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV) ที่ 22.2% และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) ที่ 13.0% โดยผลสำรวจระบุว่า คนไทยพิจารณาราคาค่าชาร์จไฟที่ถูกกว่าราคาน้ำมัน (34.1%) และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (18.9%) เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจในรถยนต์พลังงานใหม่ของผู้บริโภคชาวไทยที่ให้ความสำคัญกับการขับขี่ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และความคุ้มค่าในด้านค่าใช้จ่ายของการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มพุ่งขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

ผลสำรวจความเห็นและพฤติกรรมคนไทยเรื่องรถยนต์พลังงานไฟฟ้าปี 2566 ที่ผ่านมานี้ ได้แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า จำนวน 200 คน และกลุ่มผู้ใช้รถยนต์สันดาป 800 คน ในช่วงอายุระหว่าง 30 – 60 ปี สำหรับกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าผลสำรวจเผยให้เห็นว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด คือ  ราคาค่าชาร์จไฟที่ถูกกว่าราคาน้ำมัน ตามมาด้วยความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การออกแบบที่สวยงามและทันสมัย และความปลอดภัยที่สูงกว่า ในขณะที่กลุ่มผู้ใช้รถยนต์สันดาป ปัจจัยในด้านของราคาค่าชาร์จไฟที่ถูกกว่าราคาน้ำมัน และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยังคงเป็นสองปัจจัยหลักในการตัดสินใจเปลี่ยนมาซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเช่นเดียวกัน ตามด้วยความปลอดภัยที่สูงกว่า และความสามารถในการขับที่ได้ระยะทางที่ไกลกว่า

สำหรับกลุ่มผู้ใช้รถยนต์สันดาปนั้น สัดส่วนมากถึง 81.3% สนใจที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในอนาคต เนื่องจากประหยัดพลังงาน (89.4%) เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (72.3%) และมองว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีเทคโนโลยีที่ทันสมัย (49.9%) โดยรูปแบบรถยนต์ไฟฟ้าที่ผู้ใช้รถยนต์สันดาปอยากเป็นเจ้าของมากที่สุด คือ รถยนต์แบบซีดานสูงสุดที่ 63.6% ตามด้วยรถยนต์อเนกประสงค์ SUV 27.8% รถกระบะ 5.1% และรถยนต์อเนกประสงค์ PPV 3.5% โดยส่วนใหญ่มีแผนที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในอีก 3 – 4 ปี และคาดหวังว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่จะซื้อนั้นจะมีระยะทางการขับขี่ต่อหนึ่งการชาร์จในช่วงระหว่าง 501 – 600 กิโลเมตร ในราคาประมาณ 700,001 – 900,000 บาท โดยส่วนใหญ่จะเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจากแบรนด์จากประเทศจีนสูงถึง 83.1% เนื่องจากเชื่อมั่นในแบรนด์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม เหตุผลหลักที่กลุ่มผู้ใช้รถยนต์สันดาปยังไม่ตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในขณะนี้ มาจากความไม่มั่นใจในเรื่องระบบความปลอดภัยเป็นหลัก (66.0%) ตามด้วยจำนวนสถานีชาร์จที่มีจำกัด (50.7%) และความกังวลเกี่ยวกับเวลาในการชาร์จที่ยาวนาน (40.0%)

ด้านกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ผลสำรวจได้แสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นรถคันหลักในการเดินทาง (91.5%) และมีความพึงพอใจกับการใช้รถเนื่องจากประหยัดค่าใช้จ่าย (ราคาค่าชาร์จไฟที่ถูกกว่าราคาน้ำมัน) มากถึง 49.2% ตามด้วยเทคโนโลยีทันสมัยและการออกแบบที่สวยงาม (16.6%) และการขับขี่คล่องตัว อัตราเร่งดี (14.5%) ขณะที่จำนวนสถานีชาร์จที่น้อย (57.1%) และระยะเวลาในการชาร์จที่นานเกินไป (42.9%) เป็นเรื่องที่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าไม่พึงพอใจที่สุด นอกจากนี้ ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่มองว่า การลดอัตราค่าชาร์จไฟตามสถานีชาร์จต่าง ๆ การลดค่าจดทะเบียนรายปีรวมถึงค่าเบี้ยประกันภัยให้น้อยกว่ารถยนต์แบบสันดาป และที่จอดรถเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นสิทธิพิเศษที่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าต้องการมากที่สุด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับการใช้รถคือ อายุของแบตเตอรี่ สถานีชาร์จไฟ รวมถึงอะไหล่และค่าดูแลรักษาต่าง ๆ ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนมากยังได้ให้เหตุผลว่า จำนวนสถานีชาร์จไฟที่น้อยและไม่ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ และราคาแบตเตอรี่ที่สูง จะเป็นสองปัจจัยหลักที่นำไปสู่การเลิกใช้รถยนต์ไฟฟ้า นอกเหนือจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ราคารถยนต์ไฟฟ้าที่ต่ำลงกว่าในปัจจุบันจะกระตุ้นให้คนไทยเปลี่ยนใจหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด ตามด้วยการมีสถานีชาร์จไฟที่เพียงพอ รวมทั้งสมรรถนะและเทคโนโลยีในการขับรถที่ดีกว่า

ผู้ตอบแบบสอบถามยังได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการสนับสนุนจากรัฐบาลนอกจากมาตรการส่วนลดทางภาษีและเงินอุดหนุนว่า การสนับสนุนจากรัฐบาลในการเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จเป็นสิ่งที่ทั้งสองกลุ่มตัวอย่างต้องการมากที่สุด (34.0%) ตามด้วยการสนับสนุนค่าไฟฟ้า (28.0%) และการสนับสนุนค่าบำรุงรักษารถยนต์ (18.0%)

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่มองว่า รถยนต์ไฟฟ้าจากแบรนด์จีนนั้นมีการออกแบบดีไซน์ที่สวยงามและทันสมัย ในขณะที่กลุ่มผู้ใช้รถยนต์สันดาปมองว่ารถยนต์ไฟฟ้าจากแบรนด์จีนมีราคาที่จับต้องได้และมีความคุ้มค่ากว่ารถยนต์จากประเทศอื่น ตามด้วยการออกแบบดีไซน์ที่สวยงาม และมีระบบเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย โดยผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าและผู้ใช้รถยนต์สันดาป เชื่อว่าการเข้ามาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าก่อให้เกิดโอกาสหรือการพัฒนาในระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem) ในทุกภาคส่วน โดยทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ อาทิ การติดตั้งแท่นชาร์จ (Wall Charge), แผงโซล่าเซลล์, สถานีชาร์จไฟฟ้าแบบเร็ว (DC Fast Charge), และการให้เช่ารถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ในการส่งเสริมการลงทุน การจ้างงาน และพัฒนาศักยภาพฝีมือแรงงานไทย เพื่อพัฒนาและยกระดับระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า

นายณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ในฐานะหนึ่งในผู้นำด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย เราได้ร่วมมือกับนิด้าโพลในครั้งนี้เป็นปีที่สามของการสำรวจ จากผลการสำรวจ เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนถึงแนวโน้มการเปิดรับรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นจากการเติบโตของยอดขายและยอดจดทะเบียนของรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2566 ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 700% จากปี 2565 ที่ผ่านมา อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ การเข้ามาของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าต่าง ๆ โดยเฉพาะจากประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างต้องร่วมมือกันในการผลักดันการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องผ่านนโยบายและสิทธิพิเศษต่าง ๆ การขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน การทำงานร่วมกันเกี่ยวกับข้อกังวลต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้รถยนต์
ไฟฟ้า

การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีอันทันสมัยที่สามารถวิ่งได้ระยะทางมากขึ้นต่อการชาร์จหนึ่งครั้งเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้ขับขี่ รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าและส่วนประกอบสำคัญอย่างเช่น แบตเตอรี่ ให้มากยิ่งขึ้น ในปี 2567 นี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะขยายตัวและเติบโตอย่างเห็นได้ชัด จากการที่แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าต่าง ๆ โดยเฉพาะแบรนด์รถยนต์จากประเทศจีนที่เล็งเห็นโอกาสในตลาดยานยนต์ไทย และเข้ามาลงทุนก่อตั้งโรงงานเพื่อเพิ่มสายการผลิตในประเทศไทย รวมถึงยกให้ประเทศไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับภูมิภาค เช่นเดียวกันกับ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ที่ได้เปิดตัว New GWM ORA Good Cat จากสายการผลิตภายในประเทศที่โรงงาน เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) ที่จังหวัดระยอง เพื่อส่งมอบสู่ชาวไทยภายในเดือนมกราคม 2567 ภายใต้นโยบายสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรการ ZEV 3.0 ของรัฐบาล เกรท วอลล์ มอเตอร์ ในฐานะหนึ่งในผู้นำด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย จะยังคงเดินหน้าพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มาพร้อมตัวเลือกหลากหลาย พร้อมตอบโจทย์ผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าทั้งรถยนต์แบบแบตเตอรี่ ไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริด รวมถึงยกระดับการบริการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคชาวไทยได้รับประสบการณ์ของการเป็นเจ้าของยานยนต์คุณภาพที่เต็มไปด้วยความสะดวกสบาย ปลอดภัย และไร้กังวล ควบคู่ไปกับการเดินหน้าเติมเต็มระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าให้เติบโตและพัฒนาขึ้นสู่ระดับสากล”