ฟอร์ดฉลอง 10 ปี

By / 1 week ago / News / No Comments
ฟอร์ดฉลอง 10 ปี

โครงการประกวดนวัตกรรม Ford Innovator Scholarship

ฟอร์ด ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด ฉลองครบรอบ 10 ปี โครงการประกวดนวัตกรรม Ford Innovator Scholarship จัดเสวนาพิเศษเพื่อบอกเล่าความสำเร็จและส่งต่อแรงบันดาลใจจากโครงการ พร้อมกิจกรรม Hackathon เพื่อช่วยฝึกฝนทักษะการสื่อสารนวัตกรรมแก่เยาวชน และการจัดแสดงผลงาน รวมถึงการตัดสินผลงานนักเรียน นักศึกษา 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในปีนี้

“ฟอร์ดภูมิใจที่ได้มีส่วนสำคัญในการสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โครงการนี้ไม่เพียงสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ยังมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมต่างๆ ไปใช้งานจริงเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชน รวมถึงจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ และการสร้างนวัตกรเพื่อสังคมในประเทศไทย” นางสาวกมลชนก ประเสริฐสม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ฟอร์ด ประเทศไทย และตลาดอาเซียน กล่าว

โครงการประกวดนวัตกรรมเพื่อชิงทุนการศึกษา Ford Innovator Scholarship 2024’ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ ‘การออกแบบนวัตกรรมพลังบวก เชื่อมต่อชุมชน เพื่อโลกที่ดีกว่า’ (Connect Innovation with Communities for a Better World Challenge)’ โดยเน้นให้ผลงานนวัตกรรมสร้างประโยชน์แก่ชุมชนได้จริง ครอบคลุมแนวทางหลัก 3 ด้าน ได้แก่ นวัตกรรมสร้างศักยภาพเพื่ออาชีพในอนาคต นวัตกรรมเสริมอาชีพเพื่อธุรกิจยุคใหม่ และนวัตกรรมสร้างความปลอดภัยในชุมชน โครงการนี้เปิดรับสมัครผลงานตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีทีมนักเรียน นักศึกษา จากระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษาทั่วประเทศ สมัครเข้าร่วมการแข่งขันถึง 235 ทีม จากนั้นคณะกรรมการได้คัดเลือก 10 ทีมเข้าสู่รอบสุดท้าย ประกอบด้วย ทีมมัธยมศึกษา 1 ทีม ทีมมัธยมศึกษาร่วมกับอุดมศึกษา 1 ทีม ทีมอาชีวศึกษา 4 ทีม และทีมอุดมศึกษา 4 ทีม โดยทีมที่ผ่านเข้ารอบได้ร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อปเพื่อพัฒนาทักษะและเสริมความรู้จากผู้เชี่ยวชาญของฟอร์ดและสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA รวมถึงการฝึกเทคนิคการนำเสนอผลงานให้มีประสิทธิภาพจากทีมงานทีวีบูรพาในกิจกรรม Hackathon อีกด้วย

ภายในงานฉลองครบรอบ 10 ปี โครงการ Ford Innovator Scholarship ฟอร์ด ประเทศไทย และพันธมิตร ได้จัดเวทีเสวนาพิเศษที่มีผู้ชนะจากโครงการในปีก่อนหน้า เช่น นายธีรภัทร ล่องเลี่ยม นักเรียนผู้ชนะโครงการประกวดในปี 2021 นายชุมพล ชารีเสน อาจารย์จากโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ ที่ปรึกษาโครงงานที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ปี 2023 นายสนิท สุวรรณศร ที่ปรึกษาสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน หรือ พีดีเอ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รวมถึงนางสาวกมลชนก ประเสริฐสม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ฟอร์ด ประเทศไทยและตลาดอาเซียน ร่วมแชร์ความสำเร็จของโครงการและส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ในการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสังคมที่น่าอยู่ นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงผลงานที่ผ่านเข้ารอบ และกิจกรรม Hackathon กระตุ้นความคิดในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานก่อนการนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการในช่วงบ่าย โดย 10 ผลงานที่ผ่านเข้ารอบในปีนี้ ได้แก่

  1. นวัตกรรมช่วยอํานวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการทางสายตา โรงเรียนอัสสัมชัญ ธนบุรี
  2. นวัตกรรมการแปรรูปเธอร์โมพลาสติกจากพลาสติกเหลือใช้ ด้วยเทคนิค Injection Molding สำหรับการใช้งานเชิงอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
  3. นวัตกรรมโรงเรือนเพาะเลี้ยงและเร่งการเจริญเติบโตของไข่ผำแบบออร์แกนิกด้วยสเปกตรัม LED เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไข่ผำเชียงงาม วิทยาลัยเทคนิคเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
  4. นวัตกรรมเครื่องคัดแยกขนาดพุทรานมสดโดยใช้ระบบน้ำวน เพื่อพัฒนากลุ่มเกษตรกรชุมชน วิทยาลัยเทคนิคเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
  5. นวัตกรรมกระตุ้นการกินอาหารของหนอนไหม เพื่อเพิ่มปริมาณ และคุณภาพเส้นไหม โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
  6. นวัตกรรมเครื่องนับจำนวนและแยกไซซ์ขนาดทุเรียนบนต้นด้วยเทคโนโลยีเอไอ (AI) วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  7. นวัตกรรมระบบตรวจจับและเก็บเกี่ยวปูนิ่มในการเลี้ยงระบบปิดแบบธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม
  8. นวัตกรรมตรวจโรคหัวใจด้วยตนเองเสต็ทโตสโคปวิเคราะห์ร่วมกับเทคโนโลยีเอไอ (AI) ผ่านแอปพลิเคชัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  9. นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์แบบการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ตรวจสอบความถูกต้องของท่ากายภาพบำบัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  10. นวัตกรรมวัสดุเพื่อความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่น หนังเทียมจากเปลือกโกโก้ เปลือกมังคุด และใยเปลือกทุเรียน ต้านเชื้อแบคทีเรีย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ฟอร์ด ประเทศไทย ได้ดำเนินโครงการ Ford Innovator Scholarship อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ภายใต้การจัดสรรงบประมาณของ ฟอร์ด ฟิแลนโธรพี (Ford Philanthropy) หน่วยงานเพื่อสังคมของฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี มอบทุนสนับสนุนแก่ทีมผู้ชนะแล้วถึง 232 ทุน รวมกว่า 6,700,000 บาท นับเป็นหนึ่งในโครงการมอบทุนการศึกษาและพัฒนาทักษะด้านนวัตกรรมสำหรับเยาวชนและสถาบันการศึกษาในประเทศไทยที่ได้รับความสนใจจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยคณะผู้จัดโครงการยังมุ่งเน้นการเสริมองค์ความรู้ และฝึกฝนความสามารถของนักเรียน นักศึกษา ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน ถือเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ในแนวทางที่ยั่งยืน พร้อมสร้างการเชื่อมต่อนวัตกรรมเพื่อสร้างประโยชน์แก่ชุมชนและสังคมได้จริง สอดคล้องกับพันธกิจของฟอร์ด ฟิแลนโธรพี ในมิติการส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนเพื่อตอบโจทย์ทักษะอาชีพในอนาคต