โออาร์, โตโยต้า ทูโช และ อีวีโลโม ผนึกกำลังเซ็น MoU
เพื่อร่วมสร้างระบบนิเวศของจักรยานยนต์ไฟฟ้าสองล้อทั่วประเทศไทยแบบครบวงจร
โออาร์ ผู้นำด้านธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกในประเทศไทย, โตโยต้า ทูโช พันธมิตรการค้าจากเครือโตโยต้ากรุ๊ป และ อีวีโลโม ผู้นำด้านธุรกิจการให้บริการและโครงสร้างพื้นฐานของพลังงานและการคมนาคมด้วยไฟฟ้าที่มีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างสังคมที่ยั่งยืน ได้จับมือเซ็นสัญญา MoU ร่วมมือกันพัฒนามาตรฐานแบตเตอรี่และการขยายบริการสถานีสลับแบตเตอรี่ในรูปแบบ Mobility-as-a Service (MaaS) สำหรับจักรยานยนต์ไฟฟ้าสองล้อ
พิธีเซ็นสัญญาจัดขึ้นที่สำนักงานของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ กรุงเทพมหานคร โดยมีคุณจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ โออาร์ คุณโนบุฟูมิ มิอูระ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโตโยต้า ทูโช และ คุณนิโคล วู ประธานกรรมการบริหารของอีวีโลโม ได้ลงนามเซ็นสัญญา MOU ร่วมกัน ทั้งนี้ ในพิธีเซ็นสัญญายังได้รับเกียรติจากทาง คุณแมตต์ เมอร์เรย์ เจ้าหน้าที่อาวุโสสหรัฐอเมริกาจากองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) สำนักกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เอ็ดวิน ซาเกอร์ตัน ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ อีวาน ฟ็อกซ์ เจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งสถานทูตสหรัฐอเมริกา พร้อมกับผู้บริหารระดับอาวุโสจาก โออาร์, โตโยต้า ทูโช และ อีวีโลโม
โออาร์, โตโยต้า ทูโช และ อีวีโลโม จะร่วมใช้จุดแข็งและศักยภาพของตนเอง ในการนำเสนอเทคโนโลยีแบตเตอรี่อัจฉริยะและแพลตฟอร์มการจัดการ รวมถึงนวัตกรรมในการให้บริการแบตเตอรี่แบบระบบสมาชิก (Battery as a Service) สำหรับจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อผลักดันการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศไทย
การร่วมมือกันครั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมายเป็นตลาดจักรยานยนต์ที่มีขนาดใหญ่ ด้วยการตอบโจทย์ความต้องการของทั้งลูกค้าธุรกิจ (B2B) และลูกค้ารายย่อย (B2C) และสร้างเครือข่ายสถานีสลับแบตเตอรี่ที่ครอบคลุมความต้องการของลูกค้า การรวมพลังของพันธมิตรครั้งนี้คาดหวังว่าจะดึงดูดผู้ใช้จักรยานยนต์หันมาใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศอย่างรวดเร็ว
โออาร์ โตโยต้า ทูโช และ อีวีโลโม จะร่วมมือประเมินสถานการณ์ของตลาด และเร่งสร้างระบบนิเวศที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีแบตเตอรี่ล่าสุดตลอดอายุการใช้งานของจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยที่ไม่มีค่าซื้อแบตเตอรี่ใหม่เป็นประจำ เพราะนวัตกรรมในการให้บริการแบตเตอรี่แบบระบบสมาชิก (Battery as a Service) นั้น สามารถทำให้ผู้ใช้เข้าถึงสถานีสลับแบตเตอรี่ได้อย่างสะดวก
คุณจิราพรขาวสวัสดิ์ประธานกรรมการและผู้บริหารของโออาร์ กล่าวว่า “การร่วมมือกับโตโยต้า ทูโช และ อีวีโลโม จะนำมาซึ่งการใช้งานจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย โออาร์เป็นผู้นำในการให้บริการผู้เดินทางในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน เมื่อถึงเวลาที่ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับการเดินทาง โออาร์จึงต้องการที่จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการใช้งานจักรยานยนต์ไฟฟ้า ผ่านความร่วมมือการพัฒนามาตรฐานแบตเตอรี่และขยายสถานีสลับแบเตอรี่ในครั้งนี้”
คุณโนบุฟูมิมิอูระกรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโตโยต้าทูโชประเทศไทย กล่าวว่า “เทคโนโลยีแบตเตอรี่เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาระบบนิเวศการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าประสบความสำเร็จ และมีส่วนผลักดันในเกิดการบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ด้วยการจับมือกับพันธมิตรเพื่อเติมเต็มศักยภาพซึ่งกันและกันในครั้งนี้ เราตั้งเป้าที่จะใช้นวัตกรรมที่ไม่เหมือนใครจากโตโยต้า ทูโช และเราเชื่อว่าการร่วมมือกับโออาร์และอีวีโลโมในครั้งนี้จะยกระดับการใช้ยานพาหนะไฟฟ้าทั่วประเทศไทย”
คุณนิโคลวูประธานกรรมการบริหารของอีวีโลโม กล่าวว่า “การร่วมมือกันของโออาร์และโตโยต้า ทูโช นั้นเป็นการร่วมมือกันครั้งแรกในวงการจักรยานยนต์ไฟฟ้า เราหวังว่าการเป็นพันธมิตรในครั้งนี้จะผลักดันการสร้างระบบนิเวศของจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้นำมาใช้อย่างรวดเร็วมากขึ้น สถานีสลับแบตเตอรี่ของอีวีโลโมจะทำให้ผู้ใช้นั้นได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น จากเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าและความเชี่ยวชาญของโตโยต้า ทูโช ร่วมกับเครือข่ายที่มีศักยภาพของโออาร์ เรามั่นใจว่าการร่วมมือกันในครั้งนี้จะทำให้ทุกฝ่ายได้บรรลุเป้าประสงค์ที่มีร่วมกัน นั่นคือผลักดันและตอบสนองความต้องการในการนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ภายในประเทศไทย”
แมตต์เมอร์เรย์เจ้าหน้าที่อาวุโสสหรัฐอเมริกาจากองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย–แปซิฟิก (APEC) กล่าวเสริม “ข้อตกลงระหว่างบริษัทจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และไทย ในวันนี้ เป็นก้าวสำคัญในการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่ทำให้ผู้ผลิต ผู้ค้าปลีก และผู้บริโภคได้รับแรงจูงใจในการขยายการใช้งานเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย การร่วมมือทางการค้าเช่นนี้ ซึ่งสนับสนุนโดยนโยบายจากรัฐบาลและความช่วยเหลือจาก APEC เป็นตัวอย่างที่สำคัญในการทำงานที่เราหวังว่าจะนำมาประยุกต์ใช้ในแบบแผนเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งครอบคลุมถึงเสาหลักในเรื่องของพลังงานสะอาดและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยเฉพาะ”